WHYNYL? EP.7: อภิชาติ ปากหวาน – ยิ่งมีน้อย ยิ่งให้มากกับอภิชาติ ปากหวาน

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-banner-th

WHYNYL? ฉบับพิเศษนี้ Gadhouse จะพามาทำความรู้จักกับ ‘อภิชาติ ปากหวาน’ ดูโอ้ลูกผสมไทย-ดัตช์ ที่นำมนตร์เสน่ห์ของหมอลำมามิกซ์กับซาวด์แนวอิเล็กทรอนิกส์และดั๊บ พร้อมกับทัวร์รอบโลกและประสบการณ์การเป็นศิลปินในยุคฟ้าหลังฝนของโควิด 19

กฏมีไว้แหก แนวเพลงก็เช่นกัน

เรื่องของแนวเพลง (genres) เป็นอะไรที่น่าพิศวง เดิมทีมนุษย์เราเป็นผู้ควบคุมขึ้นมาว่าแต่ละแนวเพลงมีเครื่องดนตรีและองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มันเหมือนกับว่าเป็นแนวเพลงที่ควบคุมพวกเราเสียเอง อย่างใครที่ชอบฟังเพลงอินดี้นอกกระแสก็มักจะถูกตราว่าเป็นวัยรุ่นเทสต์ดี หรือชาวร็อคหนัก ๆ มักจะมีภาพจำที่ฮาร์ดคอร์ ถึงขนาดที่แนวเพลงหนึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมย่อยในหลาย ๆ ที่เลย (อย่างเช่นคัลเจอร์ของฮิปฮอปในชุมชนบร๊องซ์ รัฐนิวยอร์ก) ดังนั้น สำหรับหลาย ๆ คน การผสมแนวเพลงที่ต่างกันเข้าด้วยกันก็เหมือนการแหกกฏของธรรมชาติเหมือนผสมน้ำกับน้ำมัน

แต่ในบางครั้ง หากซาวด์เสียงที่ต่างกันสุดขั้วถูกมิกซ์เข้าด้วยกันด้วยความรู้ ความเอาใจใส่ และความเคารพในต้นฉบับ ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นอาจจะกลายเป็นบทเพลงที่น่าสนใจ และไพเราะที่สุดที่คุณเคยได้ยินก็เป็นได้

WHYNYL? สุดม่วนฉบับนี้ เราจึงขอพาคุณมาพูดคุยกับคุณโอลิเวียร์ สคราวเดอร์ และคุณอังคนางค์ พิมพ์วันคำ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘อภิชาติ ปากหวาน’ คู่ดูโอ้ดีเจสัญชาติไทย-เนเธอร์แลนด์ ที่นำดนตรีพื้นบ้านของเราอย่าง ‘หมอลำ’ มาผสมผสานกับซาวด์ดนตรีสมัยใหม่อย่าง ‘ดั๊บ’ จนเกิดเป็นแนวเพลงลูกครึ่งที่ไม่ว่าจะชาติไหนก็ฟังแล้วต้องลุกขึ้นมาแด๊นซ์อย่างแน่นอน ทั้งสองจะมาเล่าถึงความเป็นมาของคณะหมอลำ-ดั๊บอภิชาติ ปากหวาน ตั้งแต่ยุคริเริ่มจนถึงเวทีนานาชาติ พร้อมกับการปรับตัวของคณะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19

หากพร้อมแล้วก็ ดำดิ่งสู่โลกที่แสนจะเวรี่แซ่บของอภิชาติ ปากหวานไปด้วยกัน !

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-0

อภิชาติ ปากหวาน : ตำนานรัก ไทย-ดัตช์

เราพบกับโอลิเวียร์และอังคนางค์ที่ร้านแผ่นเสียงวัวลายเรคคอร์ด จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่พวกเขาพักจากการทัวร์กับคณะอภิชาติปากหวาน ทั้งคู่มักจะใช้เวลาว่างไปกับการดิ๊กแผ่นเสียงไทยและ world music เก่า ๆ เป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลง ทั้งในนามอภิชาติ ปากหวาน และโปรเจกต์อื่น ๆ ภายใต้ค่ายเพลง Animist Records ของพวกเขา

ทั้งคู่พบกันในปี 2019 สมัยที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอังคนางค์เป็นนักศึกษาสาขาดนตรีไทยเดิม ส่วนโอลิเวียร์เดินทางมาเพื่อเรียนเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมืองอิสานโดยเฉพาะ หลังจากที่เขาได้ยินและตกหลุมรักกับมันสมัยที่เขามาท่องเที่ยวที่ลาว หลักจากพบและรู้จักกันผ่านครูสอนแคนของพวกเขา โอลิเวียร์และอังคนางค์ก็ทำดนตรีมาด้วยกันตลอด 

ผลงานของอภิชาติ ปากหวานจะเป็นการนำเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ของดนตรีสมัยใหม่ มาผนวกกับการละเล่นของเพลงหมอลำแบบดั้งเดิม โอลิเวียร์มีพื้นเพเป็นดีเจสายฮิปฮอปและดั๊บตั้งต้น ในขณะที่อังคนางค์เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยเดิมและดนตรีพื้นเมืองอิสาน ความถนัดของทั้งคู่นั้นได้มาเจอกันกลางทางแล้วเกิดเป็นแนวเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของอภิชาติ ปากหวานขึ้นมา โดยพวกเขาได้แรงบันดาลใจในการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ จากนักศึกษารุ่นใหม่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั่นเอง

ทั้งคู่ได้ออกแผ่นเสียง 10 นิ้ว ‘Angkanang’ แผ่นแรก และได้ขึ้นโชว์ด้วยกันมาตลอดในนามอภิชาติ ปากหวาน “เส้นทางดนตรีของเราเป็นอะไรที่น่าสนใจ ก็ทำเพลงด้วยกันมาเรื่อย ๆ เลย”

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-1

ชื่ออภิชาติ ปากหวานนี้ได้แต่ใดมา

“โอลิเวียร์เค้าอยากได้ชื่อภาษาไทยค่ะ” ‘อภิชาติ’ เป็นชื่อที่อังคนางค์ตั้งให้กับโอลิเวียร์ ซึ่งถือว่าเป็นชื่อที่สมบูรณ์แบบทั้งการออกเสียงและความหมาย พวกเขาตั้งใจให้ชื่อวงต้องเป็นชื่อที่ชาวต่างชาติออกเสียงตามได้ง่าย ๆ แถมความหมายของชื่อนี้ก็เป็นสิริมงคลอีกด้วย “ชื่อนี้หมายถึง ‘ผู้ที่เกิดดี มีญาติผู้ใหญ่คอยสนับสนุน’ ก็เลยอยากให้วงของเราและเพลงอิสานเป็นที่รักใคร่และได้รับการสนับสนุนจากผู้ฟังทั่วโลกค่ะ”

ในส่วนของนามสกุล อังคนางค์เล่าต่อว่าชื่อ ‘ปากหวาน’ นั้นมาจากนิสัยของโอลิเวียร์ “ด้วยความที่เขาเป็นคนปากหวาน เวลาเล่นเครื่องดนตรีหรือเรียนรู้วัฒนธรรมของเราก็มักจะปากหวานใส่ตลอด อังชอบแซวเขาตลอดว่า ‘why are you so ปากหวาน’ ก็เลยนำมาประกอบเป็นชื่อวงค่ะ”

“Why are you so ปากหวาน?”

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-11

ไม่ทันไร โอลิเวียร์ก็สาธิตความ ‘ปากหวาน’ ของเขาให้กับเราทันที โดยเขาเล่าถึงตอนที่เล่นดนตรีด้วยกันแรก ๆ จนถึงทุกวันนี้

“จำได้ตอนรู้จักกันแรก ๆ ว่า อังเขาจะเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ และจะซีเรียสตลอดเวลาเล่นดนตรีด้วยกันครับ” สไตล์ของดนตรีไทยจะมีความเคร่งขรึมและจริงจังอยู่ในตัว ซึ่งแตกต่างกับการเล่นเพลงหมอลำที่มีอิสระและสามารถแทรกความสนุกสนานลงไปได้มากกว่า

“พอทำดนตรีด้วยกันในฐานะอภิชาติ ปากหวานไปเรื่อย ๆ ก้ได้เห็นด้านที่สนุกสนานของเธอมากขึ้นครับ เธอสนุกและปลดปล่อยมากขึ้นเวลาเล่นด้วยกัน เวลาเห็นเธอเอนเตอร์เทนผู้ชมของเราก็เหมือนได้เห็นเธอเติบโตไปพร้อมกับวงเลย” ช่างปากหวานสมชื่อจริง ๆ

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-10

นั่นอิสาน ! นั่นอิเล็กทรอนิกส์ ! นั่น… อิสานทรอนิกส์ !

ความชาญฉลาดในการตั้งชื่อของทั้งคู่ยังไม่จบ เพราะพวกเขายังให้กำเนิดชื่อ Esantronics ขึ้นมาอีกด้วย

Esantronics เป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัลบั้ม Congotronics ของศิลปินชาวคองโกชื่อ Konono Nº1 ที่นำเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาผสมกับดนตรีพื้นบ้านจนกลายเป็นซาวด์ดนตรีใหม่สมัยใหม่ที่ยังคงความเป็นพื้นบ้านของคองโกอยู่ นับว่าเป็นโปรเจกต์สำคัญสำหรับวงการดนตรีสมัยใหม่ของทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว

เฉกเช่นเดียวกัน ชื่อ Esantronics จึงสื่อถึงท้องถิ่นภาคอิสานที่เป็นภูมิลำเนาของเพลงหมอลำ ผนวกกับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์เลียนแบบเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างแคนและพิณเข้าด้วยกัน เกิดเป็นหมอลำลูกผสมที่แปลกใหม่ แต่ยังคงสไตล์ดนตรีอันม่วนคักของหมอลำไว้อยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ Esantronics ยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มของพวกเขา Esantronics เป็นอัลบั้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดชื่นและสนุกสนานของวัฒนธรรมหมอลำ ตัวเพลงเป็นจังหวะหมอลำที่คุ้นเคย แต่นำมาตีความใหม่ด้วยซาวด์เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ผ่านการประมวลผลแบบดิจิทัล และสไตล์การ build up และ beat drop ที่หาได้ในดนตรีดั๊บและอิเล็กทรอนิกส์ ผสมกับการด้นสดของนักร้องและนักดนตรีในคณะ นับว่าเป็นอัลบั้มที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครเลยทีเดียว

“ถึงจะทันสมัยแค่ไหนก็ยังคงความเป็นอิสานอยู่”

บทเพลงที่คุณควรลองฟังได้แก่ 808 Heartbreak ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัลบั้มในตำนานของ Kanye West “มันเป็นเพลงที่โก๊ะแต่ก็เท่ในเวลาเดียวกัน” เพลงนี้เริ่มมาจากไอเดียขำ ๆ ว่าจะเป็นอย่างไรหากเพลงหมอลำมาเจอกับเสียงกลองชุด TR-808 “พวกเราอยากรู้ว่าจะออกมาเป็นยังไง เราก็เลยให้นักร้องของเราลองร้องถึงความอกหักดู ปรากฏว่าเสียงที่หนักแน่นของกลอง 808 นั้นสื่อถึงเนื้อเพลงและอารมณ์เศร้าได้ดีเลยทีเดียว”

Another Fish เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่หาที่อื่นไม่ได้ ด้วยเสียงบีตส์ที่ค่อย ๆ build up ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ บวกกับเนื้อเพลงที่ด้นสดและพูดถึงการปล่อยใจจากเรื่องราวร้าย ๆ ในชีวิต “ถ้าเขาไม่รัก ก็ไปทะเล” ส่วน Leh – Dub นำเอาสไตล์การร้องเพลงที่ดั้งเดิมแบบแหล่มาผสมกับเสียงเบสหนัก ๆ ของสไตล์ดั๊บ โดยธรรมชาติแล้ว ทั้งแหล่และดั๊บเป็นแนวเพลงที่อาจจะเข้าถึงยากและไม่ประนีประนอมกับผู้ฟัง แต่บทเพลงนี้กลับเป็นลูกผสมที่ลงตัว และเป็นที่นิยมเมื่อนำไปเล่นบนเวทีต่างประเทศเป็นอย่างมาก

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-5

“เรามีทุกอย่างให้ทุกคน”

อภิชาติ ปากหวานเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกตอนที่เล่นเพลงหมอลำ-ดั๊บแบบสดเป็นครั้งแรก

“เหมือนได้เห็นความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น” พวกเขาจำได้ว่าคนดูรุ่นใหม่มองว่าดนตรีที่เขาเล่นมีความน่าสนใจ พวกเขาโตมากับหมอลำแต่ไม่เคยได้ยินหมอลำรีมิกซ์แบบนี้มาก่อน ในขณะเดียวกัน คนดูรุ่นเก่ากลับรู้สึกสงสัย และคงตั้งคำถามในใจว่า ‘ไอ้ฝรั่งนี่มาทำอะไรกับเพลงบ้านเรา ?’ อาจจะฟังดูแปลกใหม่ แต่จริง ๆ แล้วนักดนตรีอิสานใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เครื่องซินธีไซเซอร์) มาตั้งแต่ยุค 1960’s แล้ว เสียงแคนและพิณก็ยังมีอยู่ เพียงแค่ว่าเสียงมันไม่ได้ออกมาจากแคนหรือพิณเท่านั้นเอง “เราไม่ได้เป็นหมอลำคณะแรกที่ใช้เครื่องซินธ์ แต่เรานำมันมาใช้ในรูปแบบใหม่”

เมื่อคณะอภิชาติ ปากหวานได้ออกทำการแสดงมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาก็เริ่มจับทางได้ว่าจะบาลานซ์ซาวด์หมอลำกับอิเล็กทรอนิกส์ยังไงให้ลงตัว “ที่ตลกอย่างนึงคือ แรก ๆ ผู้ชมของเราไม่รู้จักเพลงดั๊บ พวกเขาชินกับหมอลำมากว่า แต่ด้วยความที่จังหวะของดั๊บมันทั้งรวดเร็วและสนุกสนาน ผู้ชมของเราก็เลยติดใจเพลงหมอลำ-ดั๊บขึ้นมา บางครั้งพอเล่นเพลงช้าเขาก็จะขอให้เราเล่นดั๊บมันส์ ๆ จนเราต้องบอกให้เขาใจเย็น” (หัวเราะ)

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-6

“วิธีนำเสนอดนตรีของคุณที่ดีที่สุดก็คือการแสดงมันให้คนดูสด ๆ”

อภิชาติ ปากหวานเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ฟังต่างถิ่นขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่นานพวกเขาก็ได้เดินทางไปทำการแสดงบนเวทีนานาชาติ การนำเพลงหมอลำ-ดั๊บไปพรีเซนต์ให้กับผู้ฟังจากทั่วทุกมุมโลกเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายเลยทีเดียว แต่เสียงตอบรับนั้นดีเกินคาด โดยหนึ่งในนั้นคือทัวร์ยุโรปของพวกเขาในปี 2019 นั่นเอง “เป็นเวทีที่ผู้ชมพร้อมเปิดใจรับ” 

พวกเขาหวังว่าชาวต่างชาติจะได้ยินเพลงที่พวกเขาทำ แล้วเกิดความสนใจในเพลงพื้นเมืองของไทยจนกลับไปศึกษาและหาฟังต่อด้วยตนเอง “บทเพลงของอภิชาติ ปากหวานไม่ได้ติดหูที่สุด แต่ก็ไม่มีใครทำได้เหมือนเรา ใช่ไหมล่ะ ?”

อิสาน : ดินแดนแห่งความพยายาม

เส้นทางดนตรีของอภิชาติ ปากหวานกำลังไปได้สวยจนกระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด 19 ขึ้นในปี 2020 ที่ทำให้วงการดนตรีและศิลปะทั่วทั้งโลกหยุดชะงัก แผนที่จะออกทัวร์และปั๊มแผ่นเสียงเพื่อโปรโมตอัลบั้ม Esantronics จึงต้องถูกพับเก็บไปโดยปริยาย “เราก็คิดนะว่า ‘จะเอายังไงต่อกันดี ?’”

แต่สถานการณ์ที่ยากลำบากมักจะเป็นตัวชี้วัดความคุณภาพของศิลปินได้เป็นอย่างดี และอภิชาติ ปากหวานถือเป็นนักรบแนวหน้าของการต่อสู้กับความยากลำบากครั้งนี้

“เราค่อนข้างชินกับการโปรโมตดนตรีเราเหมือนประหนึ่งออกรบ”

อภิชาติ ปากหวานเล่ากับเราว่า เป็นเพราะเลือดคนอิสานที่พาพวกเขาฝ่าสมรภูมินั้นมาได้ สมาชิกของวงเกือบทั้งหมดเกิดและโตในภาคอิสาน ภูมิภาคที่ขึ้นชื่อในเรื่องความแร้นแค้น “นักดนตรีอิสานอย่างเราค่อนข้างชินกับความยากลำบากค่ะ เหมือนกับว่าเราต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่เราก็สู้ไม่ถอยและยืนหยัดในความต้องการของเรา พอจังหวะของเรามาเมื่อไหร่ ความพยายามที่เราสะสมกันมาเนิ่นนานก็จะคุ้มค่า”

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-7

โลกหยุดหมุน แต่อภิชาติ ปากหวานไม่หยุด ! สมาชิกของคณะใช้เวลาที่มีอยู่ในการครีเอตโปรเจกต์อื่น ๆ หนึ่งในนั้นคือ Taraf โปรเจกต์ดนตรีที่เกิดขึ้นภายใต้ค่ายเพลง Animist Records ของพวกเขานั่นเอง โดยโปรเจกต์นี้มีที่มาจากการที่โอลิเวียร์ได้ศึกษาและร่วมงานกับนักดนตรีพื้นบ้านอินเดีย Taraf เป็นโปรเจกต์ที่ร่วมกันระหว่างโอลิเวียร์และโปรดิวเซอร์ขาประจำของวง และเกิดขึ้นได้จากการติดต่อกันแบบออนไลน์ทั้งหมด อัลบั้ม Hiss Sound ได้แรงบันดาลใจจากองค์ประกอบของดนตรีพื้นเมืองอินเดีย โดยเฉพาะคอนเซปต์ “ราก” ที่เป็นการนำโน้ตดนตรีมาเรียบเรียงเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละรากจะสื่อถึงอารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน “ผมหยิบรากที่มีความหมายหนัก ๆ เศร้า ๆ มาใช้ในโปรเจกต์นี้ เรียกได้ว่าสะท้อนความรู้สึกของพวกเราสมัยโรคระบาดได้ดีเลยทีเดียวครับ”

ในช่วงเดียวกัน อังคนางค์ก็ได้เปิดตัว Num Num Homemade Thai Food บริการอาหารไทยโฮมเมดสำหรับงานเลี้ยงและอีเวนต์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ในขณะที่พวกเขาดิ๊กหาแผ่นเสียงเก่า ๆ กัน เธอมักจะมองหาสิ่งของวินเทจอย่างอื่นไปด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือสูตรอาหารไทยโบราณที่เธอนำมาใส่ในเมนูให้กับลูกค้าของเธอ สำหรับพวกเขา Num Num Catering เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอวัฒนธรรมไทยให้กับสายตาชาวโลก ไม่ใช่แค่ดนตรีแต่รวมไปถึงอาหารด้วย

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-8

“ยิ่งมีน้อย ยิ่งให้มาก”

ความพยายามและอุตสาหะของคณะอภิชาติ ปากหวานเป็นอะไรที่น่าเป็นแบบอย่างมาก ๆ 

“ตอนเริ่มวงใหม่ ๆ พวกเราไปแสดงสดที่สิงคโปร์กัน ตอนนั้นน้องนักร้องในวงยังไม่เคยเห็นเครื่องบินด้วยซ้ำ” ทั้งสองเล่าถึงสมาชิกในวงที่ตอนนั้นอายุแค่ 17 ปีเท่านั้น แต่ถึงอายุจะน้อย ความสามารถของเธอกลับสร้างความประทับใจให้กับคนดูทุกคน “จู่ ๆ เราก็ได้ไปแสดงบนเวทีต่างประเทศแบบไม่ทันตั้งตัว น้องนักร้องของเราเพิ่งจากบ้านที่อิสานมาหยก ๆ แต่ออกไปเอื้อนหมอลำได้แบบไม่เขินเวทีเลย เป็นอะไรที่ประทับใจมาก เกือบร้องไห้เลยค่ะ”

“เราถามน้องว่าตื่นเต้นไหม น้องตอบว่า ‘ไม่ค่ะ’ จังหวะนั้นพวกเราก็เลย ‘ไม่ค่ะ’ ตามไปด้วย” ทั้งคู่เล่าถึงตอนก่อนที่อภิชาติ ปากหวานจะขึ้นแสดงที่เวที Fusion Festival ณ ประเทศเยอรมนีต่อหน้าผู้ชมนับหมื่นคน “พอได้เห็นน้อง ๆ นักดนตรีอิสานหน้าใหม่กำลังเล่นเพลงอิสานด้วยเครื่องดนตรีอิสาน แล้วมองออกไปเห็นผู้คนกว่าหมื่นคนที่ฟังพวกเราอยู่ตรงหน้า มันเป็นโมเมนต์ที่ตื้นตันมาก ๆ”

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-9

“พอได้มีส่วนในการพัฒนาของพวกเขาแล้วมันก็ประทับใจมาก ๆ”

อภิชาติ ปากหวานกลับมาสร้างเสียงดนตรีได้อีกครั้งในช่วงฟ้าหลังฝนยุคโควิด คณะหมอลำกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อออกทัวร์ทั่วประเทศไทยในปี 2024 พร้อมกับผลงานใหม่ ๆ จากโปรเจกต์มากมายในค่าย Animist Records ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ Han Litz and the Lucid Voyages ที่โอลิเวียร์และอังคนางค์จับมือกับ Han Litz ศิลปินฟลูตลมือฉมัง และซีรี่ส์ Asian Tropical Bass ที่เปิดเอาสไตล์ดนตรีประเภทเรกเก้ ฟังก์ ฮิปฮอป และอีกมากมายมาเป็นแรงบันดาลใจ

การมิกซ์แนวเพลงที่ต่างกันสุดขั้วเข้าด้วยกันนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากมิกซ์ด้วยความเคารพและเอาใจใส่พอ คุณก็จะได้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้นและเร้าใจ และแซ่บคักอย่างเช่นอภิชาติ ปากหวานที่จะนำพาคลื่นลูกใหม่ให้กับวงการหมอลำและดนตรีพื้นบ้านอิสานของเรา

whynyl-ep7-apichat-pakwan-its-molam-its-dub-gadhouse-give-me-5-animist-records

Give Me 5

อภิชาติ ปากหวานและค่ายเพลง Animist Records ของเขาเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีสำหรับใครที่ชื่นชอบแนวเพลงพื้นบ้านหรือ world music นี่คือ 5 แผ่นเสียงแนะนำจากพวกเขา

  1. Apichat Pakwan – Esantronics
    “ยังถือว่าเป็นอัลบั้มที่สำคัญที่สุดของพวกเรา หยิบอัลบั้ม Esantronics มาฟังกี่ทีก็ยังสดใหม่อยู่ เปี่ยมไปด้วยความเบาบางแต่ลึกซึ้งที่หาในโปรเจกต์อื่นไม่มี”
  2. Hiss Sound – Taraf
    “เป็นโปรเจกต์ในฝันที่ผมได้ทำเลยครับ เหมือนกับ Esantronics เป็นอัลบั้มที่ที่มืดหม่นกว่า ถือว่าเป็นอัลบั้มโควิดก็ได้ ผมภูมิใจมากที่สามารถทำอัลบั้มนี้ออกมาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และนำซาวด์ของเพลงพื้นบ้านอินเดียมาปรับใช้กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร”
  3. Apichat Pakwan – Nam Ton Tad
    “ปกและเวอร์ชั่นดั๊บของอีพีนี้ได้รับคำชมมามากมาย สำหรับผม ส่วนที่ดีที่สุดคือด้าน B-side ที่นำเสนอการด้นสดที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีอิสานและดนตรีไทย”
  4. Apichat Pakwan & Lamaihansa – Asian Tropical Bass Vol.1
    “โปรเจกต์นี้ใช้เวลาและความพยายามอยู่ แต่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ลงตัวสุด ๆ อีพีนี้แสดงให้เห็นทุกอย่างที่เป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของเรา สิ่งที่เราเป็นในปัจจุบัน และสิ่งที่เราอยากจะเป็นในอนาคต เป็นอีพีที่สื่อถึงค่าย Animist Records ได้ดีที่สุด แถมยังภูมิใจที่ได้แนะนำวง ‘ละไมหรรษา’ ให้กับผู้ฟังในต่างแดนด้วย”
  5. Han Litz & The Lucid Voyages – Off Grid
    “โปรเจกต์ล่าสุดของพวกเรา และเป็นอัลบั้มโปรดของผมในปีนี้ด้วย เป็นอัลบั้มที่ฟังบนแผ่นเสียงแล้วมหัศจรรย์มาก ๆ ไม่นึกว่าแผ่นเสียงจะเก็บรายละเอียดได้ลึกขนาดนี้ บทเพลงเต็มไปด้วยการด้นสดและความสนิทสนม เป็นอัลบั้มที่ฟังในบ้านได้เพลิน ๆ”

ติดตามและซัพพอร์ตอภิชาติ ปากหวานได้ที่นี่

Share the Post:

Related Posts

new-queer-artists-gadhouse-pride-month-2024-thumbnail

ร้อง เล่น เต้น เควียร์ : พาฟัง 11 แผ่นเสียงจากศิลปิน LGBTQ+ ที่กำลังมาแรงของยุค 2020s

นำเสนอ 11 แผ่นเสียงจากศิลปินดาวรุ่ง LGBTQ+ ที่กำลังมาแรงประจำทศวรรษนี้ อย่าง Chappell Roan, Orville Peck, Reneé Rapp และอีกมากมาย​ !

Read More