ในบรรดาดนตรีประเภทต่าง ๆ ต้องยอมรับว่ากระแส “ฮิปฮอป” (Hip Hop) เดินทางมาไกลกว่าที่หลายคนคิดมาก ไม่ว่าจะรูปแบบของดนตรีที่ยึดครองชาร์ตจัดอันดับความนิยมแล้ว องค์ประกอบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมที่มาควบคู่กับดนตรี ยังมีอิทธิพลต่อแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของผู้คนทั่วโลก แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า จากเพลงที่เคยเป็นแนวเพลงใต้ดิน สู่หนึ่งในดนตรีกระแสหลักของวงการเพลง ฮิปฮอปเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และ อะไรทำให้แนวเพลงนี้ยังคงเป็นที่หนึ่งจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงปลายปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงจุดอิ่มตัวของเพลงยุค 60s อย่าง ฟังก์ และดิสโก ผู้คนเริ่มหาแนวเพลงใหม่ ๆ ที่ฉีกออกไป และก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ คูล เฮิร์ก (Kool Herc) หนุ่มชาวจาไมกาที่ย้ายมานิวยอร์คพร้อมกับนำดนตรีสไตล์จาไมกาเข้ามา จุดเด่นของเค้าก็คือการเปิดเพลงพร้อมกับโชว์ท่อนร้องสดควบคู่กัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ

Clive Campbell หรือที่รู้จักกันในนาม DJ Kool Here หรือบิดาแห่งวงการฮิปฮอป

จนมาวันหนึ่งในปี 1973 คูล เฮิร์ก จัดปาร์ตี้ในฝั่ง East Coast ของบร็องซ์ ในมหานครนิวยอร์ก มีคนราว 40-50 คนมาร่วม เพลงดังกระหึ่ม ผู้คนเต้นอย่างสนุกสนาน คูล เฮิร์ก ไม่ได้เปิดเพลงดิสโกแบบที่ได้ยินในวิทยุ แต่เปิดเพลงโซลของ เจมส์ บราวน์ และดนตรีฟังก์ ที่หลายคนไม่เคยได้ยินจากวิทยุ โดยนำเครื่องเทิร์นเทเบิลมาเปิดพร้อมกัน 2 ตัว แล้วเปิดเพลงเดียวกันแต่สลับกลับไปกลับมา ทำให้เกิดการ “เบรกบีต” (Breakbeat) จากการสร้างสรรค์เพลงใหม่ จังหวะใหม่ขึ้นมาจากเพลงเก่าบนเทิร์นเทเบิล 2 เครื่องพร้อมกันเป็นครั้งแรก และยังเชื่อมโยงกับการเต้นในช่วงเบรคของเพลง เป็นที่มาของ เบรค แดนซ์ หรือ B-Boy นั่นเอง ทำให้ Kool Herc ได้รับการยอมรับว่าเป็นดีเจผู้จัดปาร์ตี้ฮิปฮอปคนแรกของโลก

ในปาร์ตี้ยุคแรก ๆ ไม่ได้มีแค่เสียงเพลงเท่านั้น แต่ยังมี MC (Master of Ceremonies) หรือที่เรียกกันว่า “พิธีกร” ในปาร์ตี้ของ คูล เฮิร์ก มี MC ชื่อ “โค้ก ลา ร็อก” (Coke La Rock) และ “คลาร์ก เคนท์” (Clark Kent) ที่คอยถือไมค์ เรียกชื่อเพื่อนที่มาร่วมปาร์ตี้ร่ายเป็นลิสต์ไปเรื่อย ๆ ให้ปาร์ตี้มีสีสันมากขึ้น เสมือนกับว่ากำลังแร็ปอยู่

ภาพของใบปลิวที่ใช้โปรโมตงานปาร์ตี้ 44 ปีที่แล้ว จัดขึ้นที่ 1520 Sedgwick Avenue จัดโดย DJ Kool Herc เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1973 ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปาร์ตี้ฮิปฮอปที่เกิดขึ้นเป็นงานแรก ๆ

Bronx River Jam / Photo: Sophie Bramly

Chief Rocker Busy Bee ในวันครบรอบของ Universal Zulu Nation (กลุ่มองการส่งเสริมแนวคิดที่ว่าฮิปฮอปถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาอุดมคติของ “สันติภาพความรักความสามัคคีและความสนุกสนาน” ก่อตั้งขึ้นโดย Afrika Bambaataa) ในปี 1981

แม้บรรยากาศปาร์ตี้ในย่านบร็องซ์จะสนุกสนาน แต่สำหรับคนทั่วไปในเวลานั้น พวกเขามักกลัวที่จะย่างกรายมาในแถบนั้น คนที่ร่วมปาร์ตี้บางทีก็เป็นแก๊งข้างถนนซึ่งเข้ามาแจม ในช่วงเวลานั้น แก๊งต่าง ๆ ในบร็องซ์ ก็ปะทะกันดุเดือด ในฝั่ง West Coast ของบร็องซ์ DJ Afrika Bambaataa เริ่มจัดปาร์ตี้เพื่อดึงดูดวัยรุ่นออกจากท้องถนนและยุติความรุนแรงของแก๊งค์ เขาก่อตั้ง Universal Zulu Nation ซึ่งเป็นกลุ่มนักเต้นศิลปินและเพื่อนดีเจ มีบทบาทในการหลอมรวมแก๊งต่าง ๆ โดยมีดนตรีเป็นจุดเชื่อม จนเกิดเป็น 4 องค์ประกอบของฮิปฮอป นั่นก็คือ เอ็มซี ดีเจ แบรกแดนซ์ และ กราฟฟิตี้ รวมกันเป็นวัฒนธรรมที่ต่อยอดไปจนถึงการแสดงออกทางความคิด ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นการแต่งกาย

Universal Zulu Nation, The Jungle Brothers, A Tribe Called Quest, Run DMC และ Beastie Boys

การแร็ปให้เข้าจังหวะกับเพลงนั้นมีหลายอิทธิพลที่ทำให้เกิดการแร็ปอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การจัดวิทยุของนักจัดรายการท้องถิ่นในนิวยอร์ก การอิมโพรไวส์จากดนตรีแจ๊ส และการใช้คำคล้องจองจากดนตรียุคก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็น Jazz, Doo-Wop และ Gospel ที่ล้วนถูกสร้างมาจากคนผิวดำ สำหรับศิลปินที่ร้องแร็ปเป็นจังหวะคนแรกหลายคนมักกล่าวถึง DJ Hollywood ที่มักจะเล่นกับคนดู สร้างความสนุกสนานกับผู้ร่วมงานด้วยการหยอกล้อโดยใช้คำคล้องจอง วลีของดีเจฮอลลีวูด เป็นที่รู้จักในวงการซึ่งทำให้ดีเจในนิวยอร์กเริ่มนำมาเป็นไอเดียใช้งานต่อด้วย

สมาชิกวง Ultramagnetic MC’s ประกอบด้วย Ced-Gee, Kool Keith, Maurice Smith, Trevor Randolph

ในช่วงปี 80s ที่เรียกได้ว่าเป็น ยุคทอง ของวงการฮิปฮอป และได้การยอมรับในวงกว้าง เพราะดนตรีที่มีความร่วมสมัย แตกต่าง มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน วงที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ๆ ในยุคนี้ก็คือ Run DMC, LL Cool J, Public Enemy, Beastie Boys, KRS-One, De La Soul, A Tribe Called Quest, Ultramagnetic MC’s, และ The Jungle Brothers ที่แสดงถึงความเป็น Old School Hip Hop หลังจากนั้นวัฒนธรรมฮิปฮอปก็แพร่กระจาย สร้างอิทธิพลให้ให้กับวงการเพลงและแฟชั่นไปทั่วทุกที่