ก่อนอื่นเลย เราอยากให้คุณฟังเพลงในคลิปวิดีโอนี้ก่อน

การบรรเลงเพลง 4’33” รอบปฐมทัศน์ วันที่ 29 สิงหาคม 1952 ณ Maverick Concert Hall, Woodstock, New york นักเปียโนชื่อว่า David Tudor ได้ทำการแสดงเปียโนเดี่ยว เขาได้นั่งลงตรงเปียโน เตรียมกระดาษโน๊ต 6 แผ่นที่ว่างเปล่า และปิดฝาครอบลิ่มเปียโน จากนั้นเขากดนาฬิกาจับเวลา และวางมือของเขาไว้บนตัก ผู้ฟังยังคงรอว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นเดียวกับลมที่พัดผ่านเขย่าต้นไม้ข้างๆ ห้องการแสดง หลังจาก 30 วินาทีแห่งความเงียบงัน Tudor เปิดฝาครอบลิ่มเปียโน ปิดมันลง และกลับมานั่งนิ่งๆ เช่นเดิมอีกครั้ง เขาเปิดหน้ากระดาษที่ว่างเปล่าหน้าหนึ่ง จากนั้นฝนเริ่มตกเปาะแปะลงมา หลังจาก 2 นาที 23 วินาทีผ่านไป เขาเปิดและปิดฝาครอบลิ่มเปียโนอีกครั้ง ถึงจุดนี้ผู้ชมที่เริ่มจะฉุนเฉียวได้เดินออกจากห้องการแสดง เสียงฝีเท้านั้นได้ก้องสะท้อนไปทั่วทางเดินระหว่างที่นั่ง หลังจากผ่านไป 1 นาที 40 วินาที Tudor ได้เปิดฝาครอบลิ่มเปียโนเป็นครั้งสุดท้าย เขายืนขึ้น และก้มโค้งคำนับผู้ชม ซึ่งผู้ชมที่เหลืออยู่ก็ปรบมือขึ้นอย่างสุภาพ

(คลิปข้างบนไม่ใช่รอบปฐมทัศน์)

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-22db35715a2433c52e3803600956501f' }}

John Cage เป็นนักประพันธ์เพลงแนวทดลองชาวอเมริกัน โดยเพลง 4’33” ได้ถูกประพันธ์ขึ้นในปี 1952 ความหมายของชื่อเพลง 4’33” ก็คือช่วงความยาวของเพลงนี้ ที่มีระยะเวลา 4 นาที 33 วินาที โดยแบ่งช่วงดนตรีออกเป็น 3 movement คือ 30 วินาที, 2 นาที 23 วินาที และ 1 นาที 40 วินาที ตามลำดับ เพลงนี้มีอีกชื่อนึงที่เรียกกันว่า “Four minute thirty-three second of silence” หรือ สี่นาทีสามสิบสามวินาทีของความเงียบงัน โดยสกอร์เพลงนี้ก็คือ ผู้ทำการแสดงไม่ต้องเล่นเครื่องดนตรีใดใดเลย แต่แท้จริงแล้วเสียงดนตรีที่กำลังขับกล่อมเราอยู่ในห้วงขณะเวลานั้นแหละ คือเสียงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวในบริเวณที่เราอยู่ แม้กระทั่งเสียงลมหายใจของตัวเอง ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเซนที่ Cage เคยศึกษาในช่วงปลาย 1940s

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-1750ed4fdd12b8a30e488560407ab8d0' }}

ในปี 1951 Cage ได้ไปเยี่ยมชม ห้องที่ไม่มีเสียงสะท้อน (Anechoic Chamber) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งห้องนั้นเป็นห้องที่ออกแบบให้กำแพง เพดาน และพื้นซับเสียงที่เกิดขึ้นทั้งหมดในห้องนั้น แทนที่จะสะท้อนเป็นเสียง echo อีกทั้งยังกันเสียงจากภายนอก เมื่อ Cage ได้เข้าไปในห้อง เขาหวังว่าเขาจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่ในภายหลังเขาบอกว่า “ผมได้ยินสองเสียง เสียงหนึ่งสูงและอีกเสียงหนึ่งต่ำ เมื่อผมได้อธิบายให้วิศวกรที่ประจำห้องอยู่ตอนนั้น เขาบอกผมว่า เสียงที่สูงคือเสียงของระบบประสาทที่กำลังทำงานอยู่ เสียงต่ำนั้นคือเสียงการไหลเวียนของระบบเลือด” Cage ออกมาจากที่ที่เขาคาดหวังว่าจะมีแต่ความเงียบ แต่ก็ยังได้ยินเสียงอยู่ “เราจะได้ยินเสียงจนวันตาย และเสียงนั้นจะยังคงตามเราไปเมื่อเราตาย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวเรื่ออนาคตของดนตรีหรอก” จากนั้นสิ่งเหล่านี้ จึงออกมาเป็นแนวคิดของเพลง 4’33” ที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของ John Cage จนทุกวันนี้