“ยิงโฮโลแกรมล้ำๆไปเลย!” เฮ้ย แล้วโฮโลแกรมสุดล้ำนำสมัยจะมาเกี่ยวข้องยังไงกับแผ่นไวนิลที่สุดแสนจะแมนนวลโอลด์สคูลได้ยังไงกัน บทความนี้จะพูดถึงว่าสองสิ่งนี้โคจรมาพบกันได้ยังไง

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-e4b8ea56fc81dec2ff49b410bf1b96c4' }}

ต้องบอกก่อนว่า โฮโลแกรมคือ รูปแบบของการสร้างภาพ 3 มิติ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า โฮโลกราฟี (ซึ่งเราจะไม่อธิบายตรงนี้ เพราะยาว) แต่โดยหลักแล้ว โฮโลแกรมที่เราเห็นกันบ่อยๆ จะมาในรูปแบบของแสง 3 มิติที่ลอยตัวอยู่ เหมือนที่เห็นในหนังไซไฟหลังๆ นี้

ซึ่งเทคนิคนี้ต่างกับ 3 มิติปกติตรงที่โฮโลแกรมใช้แสงสะท้อนกับวัตถุใดๆก็ตาม เช่น กระจก หรือแผ่นฟิล์ม หลอกตาเราว่ามันมีความลึกความนูน แต่ 3 มิติปกติอาจจะใช้การปั้นหุ่นหรือขึ้นแบบในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง

ส่วนโฮโลแกรมในแผ่นไวนิลนั้น ก็เป็นเทคโนโลยีที่เสริมเข้ามาให้การเล่นแผ่นเสียงดูน่าสนุก ซึ่งปกติแล้วเราใส่แผ่นเสียงใน turntable วางเข็มก็เป็นอันจบกัน พอหมดหน้า A ก็เปลี่ยนเป็นหน้า B แต่ถ้ามีโฮโลแกรมอยู่บนแผ่นมันก็คงน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว

อันที่จริงเทคนิคโฮโลแกรมบนไวนิลมันเป็นโฮโลแกรมจริงๆ มั้ย เราว่าก็ไม่เชิง เพราะวิธีการทำงานของมันคือการแกะสลักลวดลายลงไปบนแผ่นไวนิล ซึ่งถ้าหยิบขึ้นมามองเฉยๆ ก็ไม่เห็นอะไร วิธีที่จะทำให้เราเห็นคือการจับมันใส่ turntable ให้แผ่นมันหมุน แล้วก็ใช้ไฟฉายหรือโคมไฟก็ได้ส่องลงไปบนแผ่นที่หมุนอยู่ ก็จะมีภาพโฮโลแกรมลอยขึ้นมา

อย่างเช่นแผ่น Star War: The Force Awaken ก็จะเป็นรูปยาน TIE Fighter กับ ยาน Millennium Falcon ร่อนวนไปวนมาบนแผ่นไวนิล หรือแผ่น Jack White อัลบั้ม Lazaretto ที่เป็นรูปนางฟ้ากลับหัวลอยไปมาบนแผ่น

โฮโลแกรมในแผ่นไวนิลก็ถือว่าเป็นกิมมิกการจับเทคโนโลยีที่สนุกๆ มาใส่ให้เราเพลิดเพลินนอกเหนือจากการฟังเพลงเฉยๆ นั่นเอง

อ้างอิง: theverge.com, geek.com