Whynyl EP.4: Clement Arnold – จากแพชชั่นส่วนตัวสู่กิจการโรงงานแผ่นเสียง

หากพูดถึงวงการดนตรีของประเทศอินโดนีเซียแล้ว คุณ Clement Arnold ถือว่าเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่เข้ามายกระดับวงการแผ่นเสียงของประเทศเพื่อนบ้านเรา ที่เรียกได้เลยว่าเติบโตอย่างรวดเร็วใน 10 ปีที่ผ่านมา

ด้วยดีกรีเจ้าของแฟรนชายส์ Piringan Hitam Record Store ที่เปิดอยู่ในอินโดเนียเซียถึงสองสาขา และโปรเจกต์ PHR Pressing โรงงานผลิตแผ่นเสียงแห่งแรกของอินโดนีเซีย (และแห่งที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทีมงาน Gadhouse ก็อดใจไม่ได้ที่จะนัดเจอแล้วทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น ว่าทำไมนักสะสมแผ่นเสียงมือสมัครเล่นจึงกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานแผ่นเสียงได้

พวกเราตื่นเต้นที่จะแนะนำเขามาก ๆ เพราะเราเชื่อว่าเรื่องราวของ Arnold จะเป็นแรงบันดาลใจให้สาวกไวนิลอย่างพวกเราลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตัวเองอย่างแน่นอน !

CLEMENT ARNOLD คือใคร ?

เราพบกับ Arnold ที่ร้านแผ่นเสียง PHR Bintaro กรุงจาการ์ตา ที่เขาเป็นเจ้าของ เมื่อเดินทางมาถึงร้านก็ทักทายกันเป็นอย่างดี บรรยากาศร้านตกแต่งด้วยสไตล์มินิมอล ซึ่งสวนทางกับจำนวนแผ่นเสียงที่วางขายอยู่  ชั้นวางเต็มไปด้วยแผ่นซีลและแผ่นเสียงมือสองจากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเพลงสากลใหม่ ๆ หรือแผ่นของศิลปินท้องถิ่นที่ไม่น่าจะหาซื่อได้ง่าย ๆ ในไทย

เดิมทีธุรกิจ PHR ของ Arnold เริ่มมาจากการขายแผ่นเสียงออนไลน์มาก่อนตั้งแต่ปี 2012 จนเปิดหน้าร้านเป็นสาขาแรกที่ Senayan ในปี 2014 ส่วนร้านที่เรากำลังยืนอยู่นี้คือสาขา Bintaro ที่เพิ่งทำการเปิดไปในปี 2021 ที่ผ่านมานี่เอง เรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจที่น่าประทับใจสุด ๆ และความราบรื่นนี้ Arnold ยกเครดิตให้กับวงการดนตรีของอินโดนีเซียที่ทุกคนต่างช่วยเหลือกันและกัน 

“เหมือนพวกเราจับมือกันเพื่อทำสิ่งดี ๆ ให้กับวงการเพลงเลยแหละ” เขาว่า

เหตุเกิด ณ ร้านขายแผ่นเสียงมือสอง

เหมือนใครหลาย ๆ คน ความรักของ Arnold ที่มีต่อดนตรีเริ่มมาจากความทรงจำในวัยเด็ก

“ผมอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือไปไหนก็ได้ยินแต่เสียงเพลง” Arnold เล่าให้ฟังว่าเขาเติบโตมาในบ้านที่มีใจรักดนตรีด้วยกันหมด ที่บ้านเขามักจะเปิดเพลงให้ฟังตั้งแต่สมัยประถม แถมมีคุณแม่และพี่สาวที่เล่นเปียโนได้ “ถึงผมจะเล่นไม่ได้ก็ตาม”

จนกระทั้งเข้าเรียนมัธยม Arnold ได้รู้จักกับกลุ่มเพื่อนที่สนใจในไวนิลและพาเขาไปร้านมือสองเพื่อขุดแผ่นเสียงเก่า ๆ ด้วยกัน “จำได้ว่าในร้านนั้นมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงวินเทจตั้งอยู่ พอได้ฟังแผ่นเสียงมือสองกับเครื่องเล่นวินเทจก็เหมือนเปิดโลกผมเลยครับว่าอะไรมันจะดีต่อใจได้ขนาดนี้” คอมโบของเครื่องเสียงเก่า ๆ กับแผ่นมือสองนั้นเพียงพอแล้วสำหรับเขาในการก้าวเข้าวงการแผ่นเสียงอย่างเต็มตัว

เก็บเงินค่าขนมมาซื้อแผ่นเสียง

แน่นอนว่าการเป็นหนุ่มไฮสคูลมันตามมาด้วยงบที่จำกัดในการซื้อแผ่นเสียง และแผ่นแต่ละแผ่นก็ไม่ได้ราคาถูก Arnold จึงใช้วิธีเก็บเงินค่าขนมที่ผู้ปกครองให้มาซื้อแผ่นเสียงเอา เขาอาศัยการเก็บแบบค่อยเป็นค่อยไป ทีละแผ่นตามกำลังทรัพย์ จนคอลเล็กชันของเขาโตขึ้นช้า ๆ และเมื่อเก็บถึง 50-100 แผ่น เขาก็เกิดไอเดียขึ้นมา

“โอ้มายก้อด ถ้าผมจะซื้อแผ่นใหม่ซักแผ่น ทำไมผมถึงไม่ขายแผ่นที่มีอยู่เพื่อเอาเงินมาซื้อล่ะ ?” เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวเขา ก่อนที่เขาจะเริ่มโมเดลธุรกิจส่งต่อแผ่นเสียงมือสอง 

เขาเริ่มจากการเสาะหาแผ่นเสียงสภาพดี ๆ จากร้านมือสองมาขายต่อแล้วอัพราคา ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ การซื้อขายทั้งหมดจึงเกิดขึ้นบนเว็บไซต์ Kaskus (ปัจจุบันเขาว่าไม่มีคนใช้แล้ว) และบน Facebook Marketplace โดยฐานลูกค้าของเขาเติบโตขึ้นอย่างออร์แกนิก จนในปี 2014 นั่นเองที่เขารู้สึกว่าธุรกิจของเขาเสถียรแล้วสามารถเปิดร้านขายแบบออฟไลน์ได้ ซึ่งก็คือที่มาของ PHR Senayan นั่นเอง

คอนเซปต์ของ PHR ที่ Arnold วางไว้คือร้านแผ่นเสียงที่เป็นของทุกคน ทางร้านพยายามหาแผ่นเสียงที่มีความหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกแบบ ทุกรสนิยม ตั้งแต่ป็อป ร็อค เมทัล ฯลฯ “ผมหวังว่าผู้ที่มาอุดหนุนจะได้รับแผ่นเสียงที่เติมเต็มพวกเขาน่ะครับ อาจจะเป็นแผ่นที่เขาอยากได้ หรือไม่เคยรู้มาก่อนว่าอยากได้” Arnold บอกว่าสต๊าฟของเขาทุกคนพร้อมแนะนำ (และป้ายยา) ลูกค้าทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นอกจากนี้แล้ว PHR ทั้งสองสาขายังมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงวางขายสำหรับลูกค้าที่อยากเปิดแผ่นเสียงที่ซื้อไปฟังที่บ้านอีกด้วย และแน่นอนว่ามีเครื่องเล่น Gadhouse ไปวางขายเช่นกัน โดยสมาชิกที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดก็คือ Henry ด้วยลุคสุดคลาสสิกของเขาที่ถูกใจวัยรุ่นอินโดฯ กันถ้วนหน้า “คนรุ่นใหม่ที่นี่หันมาสนใจแผ่นเสียงกันเยอะขึ้นมาก ๆ ครับ และเครื่องเล่นของ Gadhouse ก็มีรุ่นให้เลือกที่หลากหลายแถมมีดีไซน์ที่เข้าถึงคนกลุ่มนั้นเป็นอย่างดี” เขาเสริม

“ผมรักอินโดนีเซีย ผมรักดนตรี และผมก็รักแผ่นเสียง”

เมื่อถามว่าทำไมถึงตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตแผ่นเสียง Arnold เล่าว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีในรอบ 50 ปีที่คนอินโดกลับมาสนใจในแผ่นเสียง และประเทศของเขาก็ไม่เคยมีโรงงานมาก่อนเลย

“ผมเรียนจบไฮสคูลแล้วก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่อและทำงานกับบริษัทที่ต่างประเทศ แต่ก็เหมือนมีเสียงคอยเรียกร้องให้กลับประเทศที่ผมรักอยู่เรื่อย ๆ ครับ ผมรู้ตัวว่าผมรักอินโดนีเซีย ผมรักดนตรี และผมก็รักแผ่นเสียงมาตลอด ผมจึงกลับมาอินโดนีเซียมาด้วยความหวังในการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่ผมรักครับ” Arnold เล่าต่อว่าเขาเองก็ประหลาดใจที่ 10 ปีหลังจากมี PHR มาก็มีโอกาสก่อตั้งโรงงานผลิตแผ่นเสียงขึ้นมา และเขาก็ตัดสินใจคว้าโอกาสนี้ไว้ทันที

โรงงาน PHR Pressing นี้จะกลายเป็นโรงงานผลิตแผ่นเสียงแห่งที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Arnold ก็ตื่นเต้นกับมันมาก ๆ “วงการดนตรีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคับไปด้วยคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียเอง ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งผมก็แฮปปี้ที่จะได้มีส่วนในการเติบโตของดนตรีและศิลปินในภูมิภาคของเราครับ เป็นอะไรที่น่าเฉลิมฉลองมาก”

ตอนนี้มีชุดแผ่นเสียงรอผลิตอยู่มากมาย ทั้งจากค่ายเพลงยักษ์ของอินโดสู่ศิลปินอิสระ โดยแผ่นเสียงชุดแรกที่ PHR Pressing มีแพลนที่จะปั๊มก็คือ Indonesia Raya หรือเพลงชาติของอินโดนีเซียนั่นเอง “แผ่นเสียงชุดนี้มันสำคัญสำหรับผมมาก เพราะผมอยากให้เครื่องผลิตแผ่นเสียงตัวนี้เป็นตัวจุดประกายการขับเคลื่อนที่สร้างสรรค์ของอินโดนีเซียให้ตามมาครับ” เขาหวังว่าถ้าได้ปั๊มแผ่นนี้แล้ว ศิลปินท้องถิ่นของอินโดนีเซียจะเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำเพลงแล้วผลิตแผ่นเสียงออกมาอีก 

จากเด็กมัธยมที่รักแผ่นเสียง สู่เจ้าของธุรกิจไวนิลดาวรุ่ง

เราถามว่าถ้ามองย้อนกลับไป Arnold เวอร์ชั่นไฮสคูลเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาเห็นภาพตัวเองมาถึงจุดนี้ไหม

“เอาจริง ๆ ก็ไม่เลยครับ ผมไม่เคยนึกว่าชีวิตนี้จะได้มาดูแลการผลิตแผ่นเสียงในสเกลนี้ แต่ผมรู้ตัวมาตลอดว่าอยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ในที่นี้ก็คือวงการดนตรีของอินโด และผมก็รู้สึกขอบคุณที่แพชชั่นของผมมันโตมาถึงจุด ๆ นี้ ได้ร่วมงานกับแบรนด์อย่าง Gadhouse และศิลปินท้องถิ่นของเราในการสร้างแรงบันดาลใจต่อ ๆ ไป”

เขาบอกว่าจริง ๆ แล้ว Arnold เวอร์ชั่นไฮสคูลก็ไม่ได้หายไปไหน เขายังเป็นตัวเองคนเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ฟังเพลงหรือได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ “นี่คือสิ่งที่พวกเราทำกันทุกวัน และคือเหตุผลเบื้องหลังทุกอย่างที่เราจัดทำออกมาครับ”

มีอะไรจะฝากถึงคอแผ่นเสียงที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่บ้าง ?

Arnold เล่าว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“มันคือการบาลานซ์ระหว่างแพชชั่นและความมืออาชีพ บทบาทของเราในวงการดนตรีมันสำคัญคล้าย ๆ กับศิลปินเลย เราจำเป็นจะต้องมีแพชชั่นกับมันเพราะมันจะเติมเต็มความอบอุ่นและความเอาใจใส่ให้กับโมเดลธุรกิจที่เย็นยะเยือก ในขณะเดียวกัน ความมืออาชีพก็ต้องมีเพราะเราอยู่ตัวคนเดียว แต่เราร่วมงานกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ค่ายเพลง และลูกค้า เราจึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงครับ”

เขาเสริมอีกว่าพวกเขาก็ยังเรียนรู้อยู่ แต่เมื่อเทียบกับวงการอื่น ๆ แล้ว วงการดนตรีมีความพิเศษที่ทุกคนต่างร่วมมือกันเพื่อสร้างอีโคซิสเท็มที่สร้างสรรค์และบันเทิงให้กับทุกคน 

Give me 5

ก่อนจากกัน ไหน ๆ ก็บินลัดฟ้ามาถึงจาการ์ตาแล้ว เราได้ขอให้ Arnold ได้ Give Me 5 กับ 5 ศิลปินอินโดนีเซียที่เขาอยากแนะนำ พร้อมกับคำแนะนำสั้น ๆ ว่าทำไมเราถึงควรรู้จักแล้วลองฟังเพลงของพวกเขาดู

ใครที่สงสัยและอยากลองเข้าถึงวงการดนตรีอินโดนีเซีย ลองไปฟังศิลปินเหล่านี้ได้เลย !

1. Chrisye

ศิลปินป๊อบชื่อดังของบ้านผมครับ เขามีวิธีการเรียบเรียงซาวนด์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ ได้ฟังก็จะรู้เลยว่าทำไมใคร ๆ ก็รักผลงานของเขา

2. Iwan Fals

บทเพลงของ Iwan Fals ทุกเพลงนั้นไพเราะและมีความหมายที่ลึกซึ้ง ยิ่งฟังผ่านเสียงร้องของเขาก็ยิ่งประทับใจ ถือว่าเป็นศิลปินในดวงใจของใครหลาย ๆ คน

3. Dewa 19

เป็นวงร็อคที่อยู่มาตั้งแต่ยุค 90’s ครับ ถือว่าเป็นตำนานเลยคนนี้

4. Sheila on 7

ผมไม่สามารถอธิบายได้ว่าบทเพลงของ Sheila นั้นจับต้องหัวใจของผู้ฟังได้ลึกซึ้งแค่ไหน ถ้าอยากรู้ก็ลองฟังดูเลย !

5. Glenn Fredly

ศิลปิลระดับตำนานอีกคนที่มีบทบาทในวงการดนตรีของอินโดนีเซียมาก ๆ น่าเศร้าที่เขาเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2020 แต่ผลงานของเขาจะเป็นที่ประจักษ์ต่อไปครับ

Piringan Hitam Record Store

Facebook

Instagram

Website

Share the Post:

Related Posts

new-queer-artists-gadhouse-pride-month-2024-thumbnail

ร้อง เล่น เต้น เควียร์ : พาฟัง 11 แผ่นเสียงจากศิลปิน LGBTQ+ ที่กำลังมาแรงของยุค 2020s

นำเสนอ 11 แผ่นเสียงจากศิลปินดาวรุ่ง LGBTQ+ ที่กำลังมาแรงประจำทศวรรษนี้ อย่าง Chappell Roan, Orville Peck, Reneé Rapp และอีกมากมาย​ !

Read More