มาร่วมทำความรู้จักกับพวกเขา Lek & Sowat ศิลปิน duo ชาวฝรั่งเศส ผู้แบ่งปันความชอบใน Urbex หรือ Urban Exploration ศิลปะการค้นหาและสร้างสิ่งต่างๆในสถานที่ ที่ถูกทิ้งร้าง และร่วมผลักดันขอบเขตของกราฟฟิตี้แบบดั้งเดิม ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม ความ Abstract และ กราฟฟิตี้ ทำให้เกิดรูปแบบที่ทันสมัยของศิลปะในเมือง

เมื่อพูดถึงความเป็นฮิปฮอปแล้ว นอกจากเพลงแร๊ป แฟชั่นสวมเสื้อผ้าโคร่ง ๆ หรือ B-boy และ DJ แล้ว หลาย ๆ คน มักจะนึกถึงภาพวาดกราฟฟิตี้สีฉูดฉาดบนท้องถนนที่เติมเต็มสีสันให้ถนนหนทางสีเทา ๆ กลับมามีชีวิตมากขึ้น เราจึงชวนศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังจากฝรั่งเศสมาพูดคุยถึงมุมมองของศิลปะในรูปแบบกราฟฟิตี้ ที่อาจจะเคยถูกมองว่าเป็นศิลปะใต้ดิน แต่พวกเขาพลักดันและทำให้การเพ้นท์กำแพงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน สร้างศิลปะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทำให้ตึกกำแพงเหล่านั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้ ศิลปินกราฟิตี้ดูโอ้ชาวฝรั่งเศสคู่นี้ ยังเคยรังสรรค์ผลงานศิลปะด้วยลายเส้นของพวกเขา บนเครื่องเล่นแผ่นเสียง Brad Retro ในงาน Gadhouse x Lek & Sowat ที่กรุงปารีส ในปี 2019 อีกด้วย

ผลงานศิลปะกราฟฟิตี้บนเครื่องเล่นแผ่นเสียง Brad Retro ในงาน Gadhouse x Lek & Sowat ณ กรุงปารีส ปี 2019

The perspective  of the space,

 the wall, the ceiling, the texture, 

and the story of the building,

everything can be the inspirational.”

Frédéric Malek และ Mathieu Kendrick หรือที่รู้จักกันในนาม Lek & Sowat

เริ่มเพ้นท์กราฟฟิตี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ? เล่าให้ฟังเกี่ยวกับก้าวแรกของคุณในโลกแห่งกราฟฟิตี้และวัฒนธรรมฮิปฮอปหน่อย

Lek: เริ่มตั้งแต่ปี 1988 ในปารีส ตอนนั้นผมอาศัยอยู่ในเขต 19 ซึ่งเป็นจุดที่มีกราฟฟิตี้ดัง ๆ อยู่เยอะ ผมได้ไปที่นั่นและหลงใหลมันทันที จริง ๆ แล้วผมค้นพบฮิปฮอปก่อนกราฟฟิตี้ ตอนั้นมีรายการทีวีที่ดังมากในฝรั่งเศส แล้วพิธีกรได้นำเสนอวัฒนธรรมฮิปฮอปในหลายแง่มุม มันทำให้ผมได้ค้นพบความเป็นฮิปฮอปผ่านรายการทีวีนี้ ผมหลงรู้สึกทึ่งกับภาพวาดขนาดใหญ่เหล่านั้น และด้วยความจริงที่ว่าไม่มีทางรู้ได้ว่าใครเป็นคนวาดภาพเหล่านั้น มันทำให้กราฟฟิตี้มีความลึกลับและน่าหลงใหลมาก

Sowat: ผมหลงใหลในกราฟฟิตี้ที่อยู่ทั่วเมืองในระหว่างการเดินทาง ผมรู้สึกอ่อนไหวต่อภาพวาดเหล่านั้น จริง ๆ แล้วผมเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ฝรั่งเศส ผมจึงได้พบกับวัฒนธรรมฮิปฮอปจากการเดินทางในสหรัฐอเมริกาทุกฤดูร้อน และผมคิดว่ากราฟฟิตี้มีความเป็นอิสระจากวัฒนธรรมฮิปฮอปมากกว่าวัฒนธรรมการเต้นBreakdanceซะอีก แต่เราก็เคยหลงใหลกับฮิปฮอปเอามาก ๆ ในตอนเด็ก

Lek & Sowat – Evry Day I’m Hustlin

ฮิปฮอป และ Underground Culture มีอิทธิพลต่องานของคุณอย่างไร ?

Sowat: สำหรับคนรุ่นเรา การเป็นวัยรุ่น เรามักจะหาทางเผื่อแสดงตัวตนของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยไม่สนใจกระแส Mainstream ฮิปฮอป นำทางเราไปทำความรู้จักกับ Underground Culture และสิ่งที่ศิลปินใต้ดินสนใจ

นอกจากศิลปินกราฟฟิตี้แล้ว คุณได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินคนไหนบ้าง ?

Lek: อย่างในหนัง Sci-Fi ก็จะมี Blade Runner และ Frank Stella เป็นศิลปินที่ได้แรงบันดาลใจ อย่างไรก็ตามมันไม่มีที่สิ้นสุดเพราะทุกอย่างสามารถมีอิทธิพลต่อคุณในทางใดทางหนึ่ง

Sowat: ผมได้รับอิทธิพลจากโลกการ์ตูน เช่น นักเขียนชาวอเมริกัน Neil Gaiman กับ Alan Moore ที่เขียนการ์ตูนออกมามากมาย

Frank Stella ศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ชาวอเมริกัน

คุณชอบฟังเพลงไหนขณะวาดภาพกราฟฟิตี้ และอะไรเป็นแรงผลักดันในการทำงาน ?

Lek: มันขึ้นอยู่กับอารมณ์ในขณะนั้น แต่ในช่วงนี้ ผมกลับไปฟังฮิปฮอปคลาสสิก ดนตรีในยุค 90s 

Sowat: สำหรับผม ผมฟังฮิปฮอปร่วมสมัย อย่าง Drake และ Future แต่อย่างไรก็ตามเพลงนั้นขึ้นอยู่กับงานที่ทำด้วย

คุณคิดว่าการฟังผ่านแผ่นเสียงกับการฟังเพลงแบบสตรีมมิงแตกต่างกันอย่างไร ?

สำหรับไวนิลแล้วมันเปรียบเสมือนพิธีกรรม ที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน เมื่อคุณนำไวนิลออกมานั่นหมายความว่า คุณกำลังจะมีช่วงเวลาที่ดี ผมว่ามันมีแนวคิดคล้ายๆกับที่คนอังกฤษมีพิธีกรรมการชงชาของพวกเขา ที่เป็นช่วงเวลาที่คุณมีให้ตัวเองผ่อนคลาย แต่สตรีมมิงเป็นเหมือน McDonald’s เข้าถึงได้ง่ายจากทั่วทุกที่ทุกเวลา แต่เราไม่ได้พูดถึงคุณภาพของเสียงนะ เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่วิธีการเข้าถึงที่ง่ายกว่า

แล้วเพลงในคอลเลคชั่นแผ่นเสียงที่คุณมีเป็นแนวไหน ?

Lek : แผ่นในคอลเลคชั่นที่ผมมี ส่วนมากจะเป็นแผ่น Old School

เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมฮิปฮอป ซึ่งกราฟฟิตี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมนี้

เมื่อคุณรู้ว่าคุณเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา เมื่อคนรุ่นใหม่บอกว่าพวกเขาค้นพบผลงานของผม แต่จริง ๆ แล้วคนที่ชื่นชมไม่ใช่สิ่งที่กระตุ้นเรา ความจริงคือเราทำเพื่อพิสูจน์ตัวเองมากกว่าไม่ใช่ทำเพื่อคนอื่น

คุณชื่นชอบฮิปฮอปในยุคไหนมากที่สุด ?

Lek : ผมชอบฮิปฮอปยุค 90s ที่ผมเคยฟังตอนเด็ก ๆ พอมาฟังอีกครั้งก็พบว่ามันยังน่าสนใจ

Sowat : ผมคิดว่าเป็นเพลงยุคนี้นะ มันน่าตื่นเต้นและท้าทายมาก ที่ชอบที่สุดคือ 21 Savage แร๊ปเปอร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ๆ ตอนนี้

อะไรคือความแตกต่างระหว่างกราฟฟิตี้ของอเมริกันและฝรั่งเศส ?

ที่ฝั่งอเมริกาพวกเขาไม่ค่อยวาดภาพตามสถาปัตยกรรม แต่มักจะวาดตัวอักษรใหญ่ ๆ ให้คนเห็น ซึ่งพวกเขามีฝีมือในการวาดตัวอักษรมาก ๆ ส่วนในฝรั่งเศสศิลปินกราฟฟิตี้จะเขียนในสถานที่ที่ถูกทิ้งร้าง พวกเขาไม่ได้มุ่งเน้นไปแค่สถานที่ที่ผู้คนสามารถมองเห็นได้ พวกเขาวาดภาพทุกที่ และทำให้ทุกอย่างเป็นเหมือนประสบการณ์ 3D มีความตระหนักถึงประวัติศาสตร์ศิลปะมากกว่า และทำให้มันเป็นนามธรรมมากขึ้น นั่นเลยทำให้ทั้งสองที่มีความแตกต่างกันในเชิงศิลปะ

Lek & Sowat, Legz และ Roti – “Minotaur”

อธิบายถึงสไตล์ของคุณหน่อย ? และคุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณแตกต่างจากศิลปินกราฟฟิตี้คนอื่น ๆ มากที่สุด และเอกลักษณ์ของคุณคืออะไร ?

Lek : สำหรับผม ผมคิดว่าเป็นความเรียบง่าย ดิบ และตรงไปตรงมา ไม่ได้มีการตกแต่งที่มากเกินไป ในทางกลับกันเมื่อเราทำงานศิลปะด้วยกัน เราจะรู้เลยว่าใครจะทำอะไรส่วนไหนและเรารู้ในส่วนของตัวเอง

Sowat : ผมไม่ใช่นักเขียนอักษรมืออาชีพ แต่ผมคิดว่ามันน่าสนใจ สำหรับผม ผมชอบการเขียนแบบดั้งเดิมอย่างอักษรสุเมเรียน เราร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเล่าเรื่อง เพราะ Lek เก่งในสิ่งที่ผมไม่เก่ง และผมเก่งในสิ่งที่ Lek ไม่ได้ชำนาญ เราอธิบายวิธีการทำงานของเราเสมือนกับเพลงแจ๊ส เราทำงานแบบอิมโพรไวส์ แต่เราก็มีธีมของงานในการทำงานร่วมกัน เราได้รับแรงบันดาลใจจากกันและกัน การวาดภาพกราฟฟิตี้เป็นกลุ่มเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่ามีอยู่จริงมาก่อน

ถ้าให้อธิบายสไตล์งานกราฟฟิตี้ของคุณออกมาเป็นเพลงจะเหมือนเพลงไหนมั้ย ?

เพลง “Can I Kick It ?” ของ A Tribe Called Quest ที่มีความคิดที่จะทำลายทุกสิ่ง และทุกคนเสียสละเพื่อพวกพ้อง แต่ยังแสดงออกถึงความเป็นปัจเจก

จากประสบการณ์ของคุณ อะไรคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมกราฟฟิตี้และฮิปฮอปเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ?

ในฝรั่งเศสมีภาพวาด Cave Painting เป็นจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งของโลกก็เช่นกัน คนอื่น ๆ ใช้เครื่องมือเช่นเดียวกับที่เราใช้ในฝรั่งเศสสิ่งที่น่าสนใจคือคุณสามารถพบภาพวาดเดียวกันได้ทั่วโลกในขณะที่พวกเขาไม่ได้สื่อสารกันด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันคงเหมือนกับดนตรี ที่สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องพูดหรือเข้าใจภาษาเดียวกัน

ปัจจุบันสตรีทอาร์ตเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองเรา เติมเต็มสีสันให้เมืองและวัฒนธรรมของเรา แต่กราฟฟิตี้เป็นรูปแบบศิลปะชั่วคราว คุณคิดว่างาน Digital art เช่น Augmented Reality และ Projection Mapping จะเข้ามาแทนที่กราฟฟิตี้ในอนาคตหรือไม่ ?

ทั้งใช่และไม่ใช่ กราฟฟิตี้รุ่นใหม่เติบโตขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้น เมื่อเราใช้คำว่า “กราฟฟิตี้” มันเชื่อมโยงกับสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ที่มี แม้ว่าเราจะสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แฟนซีแค่ไหน ก็จะมีคนเขียนอะไรบนกำแพง

ผนัง ที่ไหนสักแห่งในโลกเสมอ เพราะจะมีกลุ่มคนที่ยังคงหลงใหลในสิ่งดั้งเดิมอยู่ดี

พวกคุณมีโปรเจ็คในเร็ว ๆ นี้ไหม ?

ตอนนี้รัฐบาลฝรั่งเศสยังไม่อนุญาตให้เราเดินทางเพราะการแพร่ระบาดทำให้พรมแดนถูกปิด แต่ตอนนี้เรากำลังทำภาพยนตร์อยู่ จริง ๆ เราทำหนังมาหลายเรื่องแล้ว ช่วงนี้เราก็ทำงานอยู่ในสตูดิโอสะส่วนใหญ่

ฝากถึงศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นใหม่หน่อย ?

ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นของตึกรามบ้านช่อง มุมต่าง ๆ ของพื้นที่ ผนัง เพดาน พื้นผิว เรื่องราวของตึก ทุกอย่างสามารถเป็นแรงบันดาลใจได้ 

ติดตามผลงานของ Lek & Sowat ได้ทาง Facebook: Sowat – Da Mental Vaporz